ท่องเที่ยวยุคใหม่ เน้นความสมดุล และพอเพียง

จากการทัศนศึกษาชมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในหลายแห่งทั่วประเทศไทยที่ผ่านมา ดร. กฤตย์ พัตรปาล กรรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.เค. เอ็กซิบิชั่น แมนเนจเม้นท์ จำกัด ผู้จัดงานไทยเที่ยวไทย มีความคิดเห็นว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยท่ามกลางการขยายตัวในระบบทุนนิยม มักจะสวนทางกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น การท่องเที่ยวยุคใหม่ต้องรักษาดุลยภาพระหว่างการหารายได้ กับการอนุรักษ์ เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย ความเรียบง่าย ฟื้นฟูพัฒนา และถนอมรักษา โดยองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมท่องเที่ยว ควรให้ความสนใจกับนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ การเติบโตด้านการท่องเที่ยวเป็นการมองในด้านมิติทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ขณะที่นโยบายการท่องเที่ยว ต้องแยกพิจารณาในด้านอุปสงค์ อุปทาน ให้มีการปรับใช้อย่างสมดุล ในความพอดีและพอประมาณ

โดยสรุป การปรับใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับการท่องเที่ยวระบบทุนนิยม สามารถประยุกต์ใช้ใน 4 ด้าน ได้แก่
1. ด้านการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวอย่างพอเพียง ต้องยึดความพอประมาณ ความมีเหตุผล และภูมิคุ้มกัน การสร้างภูมิคุ้มกันโดยจัดทำแผนส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวที่มีความรู้ดีพอ การทำตลาดควรดูซัพพลายที่มีอยู่ และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคมและข้อจำกัดอื่นๆ นอกจากนี้ต้องรอบรู้และมีคุณธรรม
2. ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างพอเพียง เน้นการบริหารจัดการทรัพยากรทางการท่องเที่ยว ที่มีแนวทางชัดเจนและมีการบูรณาการภายใต้โรดแม็ปเดียวกัน เน้นการพัฒนาโครงสร้าง ได้แก่ วินัย จิตสำนึกและการวางแผนแบบมีส่วนร่วม ที่สนับสนุนการท่องเที่ยวยั่งยืน
3. ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว ต้องรู้จักเคารพในภูมิปัญญาและวิถีชีวิต ปรับเปลี่ยนทัศนคติให้ความสำคัญของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ไม่มองธรรมชาติเป็นแค่ต้นทุน คำนึงถึงการใช้ประโยชน์และขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ และควรพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวให้เกิดปฎิสัมพันธ์ตอบสนองการเรียนรู้
4. ด้านการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการท่องเที่ยวทางเลือก โดยให้ชุมชนเข้มแข็ง มีเครือข่าย มีการเตรียมความพร้อมในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อการพัฒนา และบริหารจัดการประโยชน์อย่างเสมอภาค
โดยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จะเน้นความสมดุล พอประมาณ และต้องรักษาดุลยภาพระหว่างการหารายได้ กับการอนุรักษ์ เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน