สายเที่ยวต้องรู้ How to เตรียมปลั๊กอย่างไร ไม่ให้พลาดในเมืองนอก
พี.เค. เอ็กซิบิชั่น จะพาไปทำความรู้จักกับปลั๊กไฟทั่วโลกที่มีการใช้จริง เพื่อการเตรียมตัวไปเที่ยวต่างประเทศได้อย่างไม่มีสะดุด ประเทศไหนใช้ปลั๊กไฟแบบไหน มีเต้ารับเป็นอย่างไร
ในแต่ละประเทศนอกจากจะมีระบบไฟฟ้าที่แตกต่างกันแล้ว “ปลั๊กไฟ” ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีการออกแบบมาไม่เหมือนกัน ทางโซนยุโรป อเมริกาจะใช้อีกแบบ ทางโซนเอเชียก็จะใช้อีกแบบ ถ้าเราไปเที่ยวประเทศที่มีการใช้ปลั๊กไฟแตกต่างกับบ้านเรา ก็จะทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ต้องชาร์จไฟฟ้านั้นไม่สามารถทำงานได้หากแบตเตอรี่หมด วันนี้เราจึงจะพาไปทำความรู้จักกับแบบปลั๊กไฟ 12 ประเภททั่วโลกกัน
- Type A : ปลั๊กไฟแบบแรกจะเป็นแบบใบมีดเรียบแบน 2 ขา ตัวขาทั้งสองข้างถ้าเป็นในอเมริกาจะไม่เท่ากัน ฝั่งหนึ่งจะใหญ่กว่า แต่ถ้าเป็นของญี่ปุ่นขาทั้งสองข้างจะเท่ากัน ถ้าเอาเครื่องใช้ไฟฟ้าจากญี่ปุ่นไปเสียบที่อเมริกาก็จะเสียบได้ แต่ถ้าเอาเครื่องใช้ไฟฟ้าจากอเมริกามาเสียบที่ญี่ปุ่นจะเสียบไม่ค่อยได้ เพราะขาด้านหนึ่งจะใหญ่กว่ากัน ซึ่งไม่เข้ากับเต้ารับนั่นเอง และถ้าสังเกตดี ๆ ในปลั๊กประเภทนี้จะมีรูเล็ก ๆ อยู่ที่ขาทั้งสองด้าน มีเอาไว้ล็อกกับปุ่มด้านในเต้ารับ ทำให้เสียบปลั๊กได้แน่นขึ้นนั่นเอง บ้านเราก็มีปลั๊กแบบนี้เช่นกัน เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ก็นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น
- Type B : ปลั๊กไฟประเภทนี้ก็มีการใช้อย่างแพร่หลายในอเมริกาเหนือ อเมริกากลาง และญี่ปุ่น มีลักษณะเป็นปลั๊ก 3 ขา โดยมีขาแบน 2 ขา และขากลม 1 ขา เจ้าขากลมนั้นจะยาวกว่าขาแบนทั้ง 2 ขา (ขากราวด์) เพื่อให้กระแสไฟฟ้าถูกต่อไปยังสายดินก่อนที่จะมีการเชื่อมต่อกระแสไฟฟ้า
- Type C : ปลั๊ก Type C หรือ Europlug เป็นปลั๊กที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในยุโรป มีลักษณะเป็นขากลม 2 ขา บริเวณหัวปลั๊กจะแบนทั้ง 2 ด้าน ส่วนเต้ารับก็ต้องเป็นรูกลม 2 รู ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 4-4.8 มิลลิเมตร ไม่เช่นนั้นปลั๊กจะเสียบไม่เข้าหรือหลวมเกินไป ปลั๊กประเภทนี้กำลังจะถูกแทนที่ด้วยปลั๊ก Type E, F, K, และ N บ้านเราก็มีการใช้ปลั๊กแบบนี้อยู่บ้าง
- Type D : ปลั๊ก Type D จะมีลักษณะเป็นขากลม 3 ขา วางตำแหน่งอยู่ในรูปแบบสามเหลี่ยม โดยขาบนสุดนั้นจะใหญ่กว่าขาอีก 2 อัน
- Type E : ปลั๊ก Type E จะมีขากลม 2 ขา ห่างกันประมาณ 19 มิลลิเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางของแต่ละขาอยู่ที่ 4.8 มิลลิเมตร ความพิเศษของมันก็คือ มีรูสำหรับรองรับขากลมสายดินที่ยื่นออกมาจากเต้ารับด้วย ซึ่งเต้ารับแบบนี้จะค่อนข้างแตกต่างจากแบบอื่น ๆ พอสมควร
- Type F : ปลั๊ก Type F จะมีรูปลักษณ์ไม่แตกต่างจากปลั๊ก Type E คือ มีขากลม 2 ขาเช่นกัน แต่ว่าจะมีคลิปกราวด์อยู่ทั้งสองด้าน รูของเต้ารับก็จะมีเพียงสองรู ปลั๊ก Type E ก็สามารถมาเสียบกับเต้ารับชนิดนี้ได้
- Type G : ปลั๊ก Type G จะมีลักษณะเป็นขาแบน 3 ขา อยู่ในตำแหน่งสามเหลี่ยม ตัวขาบนสุดจะอยู่ในแนวตั้ง และสองขาล่างจะอยู่แนวนอน เต้ารับก็ถูกออกแบบมาให้รับกับตัวปลั๊ก ซึ่งจะใช้ร่วมกับปลั๊กและเต้ารับอื่น ๆ ได้ยากมาก เพราะฉะนั้นถ้าใครจะไปเที่ยวประเทศเหล่านี้ควรเตรียม Universal Adapter ไปด้วย
- Type H : ปลั๊กประเภทนี้เป็นปลั๊กที่มีการใช้งานเฉพาะในประเทศอิสราเอลเท่านั้น ซึ่งรูปลักษณ์ของมันก็แตกต่างจากชนิดอื่น ๆ โดยสิ้นเชิง ตัวขาของปลั๊กจะมีขาแบน 3 ขา เรียงเป็นรูปสามเหลี่ยม แต่ว่าขา 2 ขาด้านล่างจะวางตัวเอียงอยู่ประมาณ 45 องศา เป็นรูปตัว V ที่หัวปลั๊กก็เป็นทรงกลม ปัจจุบันปลั๊กประเภทนี้กำลังได้รับความนิยมน้อยลง และกำลังเปลี่ยนมาใช้เป็น Type C แทน
- Type I : ปลั๊ก Type I ก็มีรูปลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์เช่นกัน โดยมีลักษณะเป็นขาแบน 3 ขา รูปสามเหลี่ยม ขาบนวางตัวแนวตั้ง ส่วน 2 ขาด้านล่างวางตัวเอียง 45 องศา คล้ายรูปตัว V แต่คนละด้านกับ Type H ปลั๊กแบบนี้สามารถใช้ได้ในประเทศจีนด้วย
- Type J : ปลั๊ก Type J มีลักษณะเป็นขากลม 3 ขา วางตัวในรูปสามเหลี่ยม แต่มีช่องว่างระหว่างกันค่อนข้างแคบ จะคล้าย ๆ กับปลั๊ก Type N แต่ไม่สามารถนำไปเสียบกับเต้ารับ Type N ได้ เพราะขาที่เป็นสายดินของ Type J นั้นยาวกว่า Type N
- Type K : ปลั๊ก Type K มีลักษณะคล้ายกับปลั๊ก Type F คือ มีขากลม 2 ขา แต่ก็มีส่วนที่แตกต่างกันด้วย ในปลั๊ก Type K จะมีขากราวด์ยื่นออกมาแทนคลิปกราวด์
- Type L : ปลั๊ก Type L จะใช้กันอย่างแพร่หลายเพียงแค่ในประเทศอิตาลี มีลักษณะเป็นขากลม 3 ขา เรียงกันเป็นแนวตรง ขากราวด์จะอยู่ตรงกลาง ปลั๊ก Type L จะมี 2 รุ่น คือรุ่น 10 แอมป์ และ 16 แอมป์ ในรุ่น 10 แอมป์ ขากลมทั้ง 2 ด้านจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 มิลลิเมตร และห่างกัน 5.5 มิลลิเมตร ส่วนรุ่น 16 แอมป์ ขาทั้ง 2 ด้านจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 มิลลิเมตร ห่างกัน 8 มิลลิเมตร เต้ารับของ Type L สามารถนำปลั๊กแบบ Type C, Type E และ Type F มาเสียบได้
ทั้งนี้ การที่เรารู้จักประเภทของปลั๊กแล้วก็ใช่ว่าเราจะสามารถนำเครื่องใช้ไฟฟ้าไปใช้ได้กับทุกที่ทั่วโลก เพราะมันก็มีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งขนาดของแรงดันไฟฟ้า (Volt) และปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่ผ่านตัวนำ (Ampere) ซึ่งแต่ละประเทศก็ใช้ไม่เหมือนกัน แล้วแบบนี้จะทำอย่างไรดี ? ไม่ยาก วิธีการที่นักเดินทางนิยมใช้และดีที่สุด ก็คือ การซื้อ Universal Adapter ติดตัวไว้ เวลาออกเดินทางไปเที่ยวถ้าต้องการนำไดร์เป่าผม หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เล็กน้อยติดไปด้วยก็สบายใจหายห่วงได้ แต่ถ้าจะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าใหญ่ ๆ นำกลับมาใช้ที่ไทย หรือซื้อไปใช้ที่ต่างประเทศ แนะนำว่าให้ศึกษาถึงขนาดของแรงดันไฟฟ้า (Volt) และปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่ผ่านตัวนำ (Ampere) ด้วยดีกว่า เพราะมัวแต่จะมาใช้ Universal Adapter อยู่ตลอดเวลาก็ดูท่าว่าจะไม่สะดวกนัก
ที่มาข้อมูล : travel.kapook.com